EN | TH
การปฏิบัติตัวเมื่อได้รับการฉายรังสี
ก่อนการฉายรังสี
รังสีรักษาคือ การใช้รังสีพลังงานสูงมุ่งไปที่รอยโรคมะเร็ง โดยเครื่องมือทันสมัยควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ รังสีจะมีผลทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกับเซลล์ร่างกายเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การรักษาด้วยรังสีรักษา อาจแบ่งเป็นจำนวนครั้งและขนาดของรังสีแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
การวางแผนฉายรังสี
เป็นขั้นตอนที่สำคัญก่อนการเริ่มรักษา แพทย์จะใช้ข้อมูลจากการวางแผนฉายรังสีไปคำนวณปริมาณรังสีและวางแผนการรักษา ในวันที่นัดมาวางแผนฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับกาจัดท่าทางเสมือนกับการฉายแสงจริง และวางตำแหน่งที่จะฉายแสงโดยการขีดสีบริเวณลำตัว ผู้ป่วยต้องดูแลมิให้เส้นบริเวณนี้ลบเลือนเพราะจะทำให้ตำแหน่งคลาดเคลื่อนได้
การปฏิบัติตัวช่วงฉายรังสี
- มาฉายรังสีตรงตามเวลานัดอยู่เสมอ หากมีอาการไม่สบายให้แจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ประเมินอาการว่าสามารถฉายต่อได้หรือไม่
- ขณะฉายรังสี ผู้ป่วยควรนอนนิ่งๆในท่าเดิมเหมือนกันทุกครั้ง เช่นเดียวกับท่าทางที่จัดตำแหน่งตั้งแต่วันวางแผนฉายรังสี
- ตลอดการฉายรังสี ผู้ป่วยจะอยู่ในห้องฉายรังสีที่มีกล้องวงจรปิดโดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูอาการตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีต่อครั้ง
- หากผู้ป่วยบ้านไกล อาจพิจารณาเตรียมหาที่พักใกล้กับโรงพยาบาลเพื่อภาระลดการเดินทาง
การดูแลตนเองช่วงการฉายรังสี
ผลข้างเคียงที่เกิดระหว่างฉายแสง
อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะ/อุจจาระบ่อย บางครั้งอาจมีแสบขัด ผิวหนังบริเวณที่ฉายระคายเคือง อาจจะแห้งหรือแดงลอก
การดูแลทั่วไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก รสจัด ไขมันสูง อาจแบ่งทานเป็นมื้อเล็กๆหลายๆมื้อ
การดูแลผิวหนัง
ผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี อาจมีลักษณะแดง ไวต่อการระคายเคือง และแห้งตึง
- ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำชำระร่างกายได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการฟอกสบู่ ขัดถูบริเวณที่มีขีดเส้น ควรดูแลรักษาผิวหนังบริเวณฉายแสงให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการแกะเกา การใช้มีดโกนเส้นขน การประคบถุงร้อนหรือถุงน้ำแข็งโดยตรงกับผิวหนังในส่วนดังกล่าว
- เลือกใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีตะเข็บเสียดสีมากเกินไป หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด
- งดทาครีม แป้ง น้ำมัน น้ำหอม บริเวณผิวหนังที่ฉายรังสี
ผลข้างเคียงที่เกิดหลังฉายแสง
อาการที่เกิดขึ้นระหว่างการฉายแสง เช่น ปัสสาวะ อุจจาระบ่อย จะค่อยๆดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ไปแล้ว นอกจากนี้การฉายแสงมีผลให้เส้นเลือดฝอยเปราะบางลง ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดปน ในเพศชายมีโอกาสพบภาวะอวัยวะสืบพันธุ์ไม่แข็งตัว ในเพศหญิงพบปัญหาช่องคลอดแห้ง
คำแนะนำทั่วไป
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในระหว่างวันอาจแบ่งให้มีช่วงเวลาพักสั้นๆเพื่องีบหลับ 30 นาที แต่ไม่นานจนเกินไปเพราะจะทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืนได้
- ในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ การออกกำลังกายเบาๆ เช่นการเดิน มีผลลดอาการเหนื่อยล้าสะสม ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย ทำให้นอนหลับดีขึ้น
การติดตามผลการรักษา
หลังการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำ และดูแลรักษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา สำหรับมะเร็งลำไส้ จะมีทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจแผลผ่าตัด ส่องกล้องลำไส้ ตรวจภาพรังสีช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา
- มาตรวจติดตามอาการตามที่แพทย์นัด หากมีปัญหาไม่สามารถมาได้ให้โทรแจ้งล่วงหน้าเพื่อเลื่อนนัดหมาย ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในบัตรนัดผู้ป่วย
- หมั่นสังเกตอาการณ์ของร่างกาย สังเกตการณ์ขับถ่าย หากผิดปกติ เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ ถ่ายมีมูกเลือด ให้ปรึกษาแพทย์
- ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ แม้ว่าจะได้รับการรักษาหายขาดแล้วก็ตาม