คำแนะนำหลังจากเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่

การดูแลแผลผ่าตัด

  1. หลังการผ่าตัดจะมีผ้าก็อชปิดบาดแผลไว้ และเปิดทำความสะอาดในวันที่ 3 หลังผ่าตัดดูแลล้างแผลตามที่แพทย์แนะนำ หากแผลติดยาก มีเลือดออก หรือบริเวณแผลบวมแดงมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์
  2. กรณีใส่สายระบายที่แผล ควรดูแลไม่ให้สายหักงอหรือเลื่อนหลุด แลวางขวดสายระบายให้อยู่ระดับต่ำกว่าแผล หลังจากแพทย์ดึงสายระบายออก ควรสังเกตดูแผลและมาพบแพทย์ถ้ามีน้ำเหลืองคั่ง มีอาการปวด บวม แดง ของแผลผ่าตัด

การควบคุมอาการปวด

แจ้งแพทย์หรือพยาบาลเพื่อขอยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ  การทนปวดอาจมีผลให้ร่างกายเคลื่อนไหวจำกัด ปอดไม่ขยาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

การบริหารปอด

หลังผ่าตัดมีโอกาสที่ปอดจะขยายอย่างไม่เต็มที่เนื่องจากผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้จำกัดและมีอาการปวด ทำให้เสี่ยงต่อการปอดติดเชื้อได้ จึงควรฝึกบริหารปอดด้วยการดูดเครื่องไตรโฟลว์ (Triflow) เพื่อให้มีประสิทธิภาพควรดูดให้ลูกบอลขึ้นได้อย่างน้อย2ลูก โดยเริ่มทำตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด เช้า กลางวัน และเย็น แต่ละครั้งทำอย่างน้อย 10ครั้ง

การบริหารร่างกาย

การนอนเฉยๆตลอดเวลาเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดของแผล หากเกิดมากทำให้ลำไส้อุดตันต้องผ่าตัดซ้ำได้ ผู้ป่วยจึงควรป้องกันโดยการฝึกตะแคงตัวและค่อยๆนั่งบนเตียงเอง เริ่มทำวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด และประมาณ1-2วันหลังผ่าตัดให้หัดลุกยืน เดินข้างเตียงได้ และสามารถเริ่มออกกำลังกายเบาๆได้ใน 1-2 สัปดาห์หลังผ่า

อาการที่ควรมาพบแพทย์

  • แผลผ่าตัดบวมแดงหรือแยกออก
  • ไม่ถ่ายอุจจาระและไม่ผายลม
  • มีไข้สูง 38 องศา
  • ปัสสาวะเป็นเลือด

พฤติกรรมการกิน

ในช่วง 1-2 วันแรกหลังผ่า ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้งดอาหาร หรือสามารถจิบน้ำได้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่ารอยต่อลำไส้เริ่มประสานกันแล้วและลำไส้เริ่มกลับมาทำงาน ก่อนได้รับอนุญาติให้เริ่มทานอาหาร  หลังจากเริ่มฟื้นตัว ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเริ่มด้วยอาหารออ่น กากน้อยก่อนในช่วง 2 สัปดาห์แรก เคี้ยวให้ละเอียด และทานน้ำ อย่างน้อย 2 ลิตร ต่อวัน

การติดตามผลการรักษา

หลังการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำ และดูแลรักษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา สำหรับมะเร็งลำไส้ จะมีทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจแผลผ่าตัด ส่องกล้องลำไส้ ตรวจภาพรังสีช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา

  • มาตรวจติดตามอาการตามที่แพทย์นัด หากมีปัญหาไม่สามารถมาได้ให้โทรแจ้งล่วงหน้าเพื่อเลื่อนนัดหมาย ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในบัตรนัดผู้ป่วย
  • หมั่นสังเกตอาการณ์ของร่างกาย สังเกตการณ์ขับถ่าย หากผิดปกติ เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ ถ่ายมีมูกเลือด ให้ปรึกษาแพทย์

·      ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ แม้ว่าจะได้รับการรักษาหายขาดแล้วก็ตาม