ชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)ก่อตั้งขึ้นพร้อมๆกับการก่อตั้งของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  ถือเป็นชมรมฯที่เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งของ “วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย”  การเขียนประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)จึงจำเป็นต้องเขียนไปพร้อมๆกับประวัติการก่อตั้งราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งก่อกำเนิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์ที่มีความสนใจร่วมกันทางด้านศัลยกรรมในประเทศไทย

การเขียนประวัติความเป็นมาทั้งของชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)และของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้มิได้เขียนตำแหน่งวิชาการของอาจารย์อาวุโสที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อตั้งองค์กรทั้งสอง  ได้เขียนคำนำหน้าชื่อทุกท่านว่า “นายแพทย์” เท่านั้น  ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเป็นการลดทอนเกียรติภูมิของอาจารย์อาวุโส  แต่เป็นเพราะหลักฐานต่างๆที่มีบันทึกไว้ล้วนแต่เขียนคำนำหน้าชื่อของอาจารย์อาวุโสทุกท่านว่า “นายแพทย์”  ยกเว้นแต่ท่านที่มียศทางราชการทหารที่ปรากฏยศนำหน้าชื่อ  เป็นการยากลำบากที่จะสืบค้นย้อนหลังไปร่วม 40-50 ปีเพื่อค้นหาตำแหน่งวิชาการของท่านอาจารย์อาวุโสทุกท่านในขณะนั้น  การจะให้เกียรติอาจารย์อาวุโสทุกท่านโดยการใส่คำนำหน้าชื่อว่า “ศาสตราจารย์” หมดทุกท่านก็จะมีคนโต้แย้งว่าอาจารย์อาวุโสบางท่านไม่ได้เป็นศาสตราจารย์  ในบางครั้งที่หลักฐานที่ค้นได้ปรากฏแน่ชัดถึงตำแหน่งวิชาการของท่านผู้เกี่ยวข้อง(เช่นนายกแพทยสภา)ก็จะเขียนระบุตำแหน่งวิชาการไว้ให้

วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

“…การจัดตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์นั้นก็เพื่อให้เมืองไทยมีวิทยาลัยของตนเองซึ่งต้องมีลักษณะเฉพาะของคนไทย  เป็นผู้แทนศัลยแพทย์ไทยในต่างประเทศ  มีความอิสรเสรีภาพ   มีศัลยแพทย์ไทยเป็นผู้ดำเนินการ…” (ศ.นพ.อุดม  โปษะกฤษณะ  ประธานวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยคนแรก)

แม้ว่าประเทศไทยได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์และผลิตแพทย์ออกไปรับใช้สังคมมานาน  แต่การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางยังไม่เกิดขึ้น  ในระยะแรกๆแพทย์ไทยเรียนรู้จากแพทย์เฉพาะทางชาวต่างประเทศที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทยและได้หาโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศ

จากการริเริ่มและชักนำของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก “พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย”   มูลมิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในประเทศไทยได้ช่วยให้แพทย์ไทยได้ไปศึกษาและฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง ณ.ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ  เมื่อศัลยแพทย์เหล่านี้เดินทางกลับมายังประเทศไทยก็ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่แพทย์รุ่นหลังแต่ยังไม่มีการฝึกอบรมเป็นแบบแผนที่ชัดเจน  บรรดาศัลยแพทย์ผู้ได้ผ่านการศึกษาฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศเหล่านี้เมื่อกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยจะต้องสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางศัลยศาสตร์  โดยมีคณะอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบการสอบ

ระยะต่อมาคณะอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ได้มีความเห็นว่าประเทศไทยควรจะได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านศัลยศาสตร์ขึ้นเองให้เป็นที่รับรองโดยทั่วไปและได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมสาขาศัลยศาสตร์ขึ้นสำเร็จในปี พ.ศ.2515  กำหนดให้ใช้ระยะเวลาในการศึกษาและฝึกอบรม 3 ปี  โดยพิจารณาว่าเหมาะสมและแก้ปัญหาการขาดแคลนศัลยแพทย์ในประเทศไทยในสมัยนั้น

27 กรกฎาคม พ.ศ.2515  คณะอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ได้ประชุมกัน ณ.ตึกอำนวยการ  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มีคณะอนุกรรมการฯเข้าร่วมประชุม 20 ท่าน  ได้มีการพิจารณาถึงการจัดตั้งสมาคมของศัลยแพทย์และมีมติเอกฉันท์ให้ก่อตั้งองค์กรของศัลยแพทย์ในรูปแบบวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้แพทยสภา  การจัดตั้งให้อยู่ในกรอบของแพทยสภาก็เพื่อทำให้วิทยาลัยที่จะจัดตั้งขึ้นมีฐานะเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ทุกแขนงในขณะนั้นซึ่งมีรวม 47 ท่านเป็นกรรมการริเริ่มในการก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  ในกรรมการริเริ่ม 47 ท่านนี้มีนายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์เป็นตัวแทนของกลุ่มศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

29 พฤศจิกายน พ.ศ.2515  กรรมการริเริ่มมีมติให้นำร่างกฎข้อบังคับของวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอต่อแพทยสภาเพื่อดำเนินการก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

12 มีนาคม พ.ศ.2516   กรรมการริเริ่มได้พิจารณาแก้ไขร่างกฎข้อบังคับของวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยตามข้อเสนอของแพทยสภาโดยแพทยสภาเสนอว่าจะต้องมีรายชื่อสมาชิกก่อตั้งจำนวนหนึ่งที่นอกเหนือจากกรรมการริเริ่ม 47 ท่านเพื่อเป็น “กลุ่มผู้เริ่มการจัดตั้งวิทยาลัย”  ครั้งนั้นกรรมการริเริ่มมีมติเลือกสมาชิกก่อตั้งจำนวน 100 ท่านซึ่งล้วนเป็นศัลยแพทย์ที่เป็นที่นับถือในวงการศัลยแพทย์และวงการแพทย์แต่เมื่อถึงเวลาเสนอจริงต่อแพทยสภาได้เสนอรายชื่อ “กลุ่มผู้เริ่มการจัดตั้งวิทยาลัย” 121 ท่านเนื่องจากผลการลงคะแนนผู้ได้ลำดับที่ 100 มีคะแนนเท่ากันจำนวนมาก

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2517  มีการประชุมครั้งแรกของกรรมการริเริ่มกับกลุ่มผู้เริ่มการจัดตั้งวิทยาลัยที่ห้องประชุมแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ที่ประชุมได้รับรองรายชื่อสมาชิกก่อตั้งที่ตอบรับมารวมทั้งหมด 116 ท่านและได้เลือกตั้งกรรมการบริหารชั่วคราวเสนอต่อแพทยสภา  การพิจารณาของแพทยสภายืดเยื้อเป็นเวลา 2 ปี  มีการสอบถามทบทวนความเข้าใจหลายครั้งระหว่างแพทยสภากับคณะกรรมการริเริ่ม

12 พฤษภาคม พ.ศ.2518  ศ.นพ.ประกอบ ตู้จินดา นายกแพทยสภาในสมัยนั้นได้ลงนามประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 92 ตอนที่ 99 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 หน้า 1-9 (ฉบับพิเศษ)และได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดำเนินการเลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยต่อไป  รายนามคณะผู้บริหารชั่วคราวในครั้งนั้นมีดังนี้

นพ.อุดม โปษะกฤษณะ ประธาน
 นพ.เสม  พริ้มพวงแก้ว รองประธาน
 นพ.จรัส  สุวรรณเวลา เลขาธิการ
 พอ.นพ.ธำรงรัตน์  แก้วกาญจน์ รองเลขาธิการ
 นพ.รุ่งธรรม  ลัดพลี  เหรัญญิก
 นพ.คง  สุวรรณรัต  กรรมการกลาง
 พล.ร.ท.นพ.ลักษณ์  บุญศิริ  กรรมการกลาง
 นพ.จินดา  สุวรรณรักษ์  ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ทั่วไป
 นพ.มรว.ธัญโสภาคย์  เกษมสันต์  ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์
 นพ.หทัย  ชิตานนท์  ผู้แทนกลุ่มประสาทศัลยศาสตร์
นพ.สุจินต์  ผลากรกุล ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ยูโร
นพ.กำพล  ประจวบเหมาะ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ทรวงอก
นพ.ลิ้ม  คุณวิศาล ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ตกแต่ง
นพ.เกษม  จิตรปฏิมา ผู้แทนกลุ่มกุมารศัลยศาสตร์
นพ.เฉลี่ย  วัชรพุกก์ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ในครั้งนั้นวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยมีสมาชิกสามัญเพิ่มเป็น 299 คน  ผลการเลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยชุดที่ 1 (วาระ 2518-2520) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2518 มีดังนี้

นพ.อุดม โปษะกฤษณะ ประธาน
นพ.เสม  พริ้มพวงแก้ว รองประธาน
นพ.จรัส  สุวรรณเวลา เลขาธิการ
พอ.นพ.ธำรงรัตน์  แก้วกาญจน์ รองเลขาธิการ
นพ.รุ่งธรรม  ลัดพลี เหรัญญิก
นพ.คง  สุวรรณรัต กรรมการกลาง
นพ.ลิ้ม  คุณวิศาล กรรมการกลาง
นพ.ประเสริฐ  นุตกูล กรรมการกลาง
นพ.จินดา  สุวรรณรักษ์ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ทั่วไป
นพ.นที  รักษ์พลเมือง ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์
นพ.วิชัย  บำรุงผล ผู้แทนกลุ่มประสาทศัลยศาสตร์
นพ.สัมพันธ์  ตันติวงษ์ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ยูโร
นพ.กำพล  ประจวบเหมาะ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ทรวงอก
นพ.ถาวร  จรูญสมิทธ์ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ตกแต่ง
นพ.เกษม  จิตรปฏิมา ผู้แทนกลุ่มกุมารศัลยศาสตร์
นพ.เฉลี่ย  วัชรพุกก์ ผู้แทนกลุ่มศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

 

ถือได้ว่ากลุ่มศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นกลุ่มร่วมก่อตั้ง “วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย”

ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

คณะผู้บริหารวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยชุดที่ 1 ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อให้วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และให้ได้รับพระราชทานนาม “ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย” โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานด้านวิชาการศัลยศาสตร์และการบริการทางศัลยกรรม  ได้ก่อตั้งโครงการศัลยแพทย์อาสาเพื่อช่วยเหลือประชากรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นทุรกันดาร  ได้ประกาศโครงการศัลยแพทย์อาสายามฉุกเฉินของวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2520

วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2525

ชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.ใดเพราะชมรมคือ “กลุ่มคนที่มีความสนใจและเป้าประสงค์ร่วมกัน” การก่อตั้งชมรมฯไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องจดทะเบียนและไม่ถือเป็นนิติบุคคล  มีแต่ข้อแนะนำว่าควรจะมีระเบียบข้อบังคับของชมรมฯ  มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหารตามระเบียบข้อบังคับ  มีการรับและมีทะเบียนสมาชิก  โดยกฎหมายชมรมฯจึงสามารถก่อตั้งเมื่อไรก็ได้  ถ้ายึดหลักนี้สามารถถือได้ว่าชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)ก่อตั้งมาก่อนการตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยโดยอาศัยหลักฐานว่ามีตัวแทนกลุ่มศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยรวมถึงมีการสอบเพื่ออนุมัติบัตรสาขาศัลยศาสตร์ทวารหนัก(ชื่อในสมัยนั้น)มาก่อนการก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

หลักฐานที่มีอยู่ ณ.ปัจจุบันพบว่าชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)มี “ข้อบังคับชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)” ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2540  ชี้บ่งว่าชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)ต้องก่อตั้งก่อนปี พ.ศ.2540

แต่เดิมประเทศไทยมีเพียงการสอบเพื่อ “อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ทวารหนัก”(ชื่อในสมัยนั้น)  การเปิดสถาบันฝึกอบรมเพื่อหนังสือ “วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2544  โดยครั้งนั้นมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมรุ่นแรก 3 คน (เข้ารับการฝึกอบรม พ.ศ.2544 และจบการฝึกอบรมในปี พ.ศ. 2545, หลักสูตร 1 ปี)คือนายแพทย์ต้น คงเป็นสุข(วุฒิบัตรฯ), นายแพทย์ธีรสันต์ ตันติเตมิท(อนุมัติบัตรฯ) และนายแพทย์ยงสรร วงศ์วิวัฒน์เสรี(อนุมัติบัตรฯ)  สาเหตุที่ฝึกอบรมพร้อมกัน  หลักสูตรเดียวกัน  ระยะเวลาฝึกอบรมเท่ากัน  แต่หนังสือรับรองต่างกันเป็นเพราะศักยภาพการฝึกอบรมของจุฬาฯในสมัยนั้นมีเพียงตำแหน่งเดียวจึงต้องใช้วิธีจับสลากว่าใครจะเข้าสอบเพื่อหนังสือวุฒิบัตรฯ ที่เหลือจึงเป็นหนังสืออนุมัติบัตรฯ

ชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)มีการเปิดบัญชีในนามชมรมฯเล่มแรกเป็นบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) สาขารามาธิบดี  เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545  เพื่อเก็บรักษารายได้ของชมรมฯจากการจัดประชุมวิชาการ

ทำเนียบประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย)

วาระ(พ.ศ.)
นายแพทย์เฉลี่ย     วัชรพุกก์ ประธานกลุ่มผู้ริเริ่ม
นายแพทย์เฉลี่ย     วัชรพุกก์ 2518-2520
นายแพทย์เฉลี่ย     วัชรพุกก์ 2520-2522
นายแพทย์วิศิษฎ์    จิตวัฒน์ 2522-2524
นายแพทย์วิศิษฎ์    จิตวัฒน์ 2524-2526
นายแพทย์วิศิษฎ์    จิตวัฒน์ 2526-2528
นายแพทย์ยอด       สุคนธมาน 2528-2530
นายแพทย์ยอด       สุคนธมาน 2530-2532
นายแพทย์วิทยา     วัฒโนภาส 2532-2534
นายแพทย์ไพบูลย์   โชติประสิทธิ์ 2534-2536
นายแพทย์พิเชฎฐ์    อินทุสร 2536-2538
นายแพทย์พิเชฎฐ์    อินทุสร 2538-2540
นายแพทย์ธนิต        วัชรพุกก์ 2540-2542
นายแพทย์ดรินทร์     โล่ห์สิริวัฒน์ 2542-2544
นายแพทย์ดรินทร์     โล่ห์สิริวัฒน์ 2544-2546
นายแพทย์อรุณ        โรจนสกุล 2546-2548
นายแพทย์ปริญญา  ทวีชัยการ 2548-2550
นายแพทย์ปริญญา  ทวีชัยการ 2550-2552
นายแพทย์จักรพันธ์  เอื้อนรเศรษฐ์ 2552-2554
นายแพทย์จักรพันธ์  เอื้อนรเศรษฐ์ 2554-2556
นายแพทย์ไพศิษฎ์    ศิริวิทยากร 2556-2558
นายแพทย์ไพศิษฎ์   ศิริวิทยากร 2558-2560
นายแพทย์นพดนัย  ชัยสมบูรณ์ 2560-2562

 

นับถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2561  ชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ประเทศไทย) มีสมาชิก 200 คน  มีผู้ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมีผู้ได้รับอนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 75 คน

ไพศิษฎ์  ศิริวิทยากร (ผู้เรียบเรียงและบันทึก)